คำแถลงนโยบาย
นายกเทศมนตรีตำบลกำแพงเพชร
แถลงต่อสภาเทศบาลตำบลกำแพงเพชร ในการประชุมสภาเทศบาลตำบลกำแพงเพชร
วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔
……………………………………………………………………………………..
เรียน ท่านประธานสภาเทศบาลตำบลกำแพงเพชรที่เคารพ และสมาชิกสภาเทศบาลตำบลกำแพงเพชรผู้ทรงเกียรติ ทุกท่าน
ตามที่ได้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลกำแพงเพชรโดยตรงจากประชาชน เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๔ และกระผมได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนในเขตพื้นที่ ให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลกำแพงเพชร กระผมพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส และสุจริต พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อที่จะนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
บัดนี้ เมื่อประชาชนให้โอกาสมอบความไว้วางใจ มีฉันทานุมัติให้กระผมได้เข้ามาบริหารงานเทศบาลตำบลกำแพงเพชร ผมขอปวารณาตัวว่า จะอุทิศตน อุทิศเวลา เสียสละ และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความเจริญรุ่งเรืองของเทศบาลตำบลกำแพงเพชรเป็นที่ตั้ง ดำเนินการพัฒนาเทศบาลตำบลกำแพงเพชรให้เป็น “เทศบาลที่จิ๋วแต่แจ๋ว” ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มุ่งสัมฤทธิ์ของงาน ยึดมั่นมาตรฐาน บริการด้วยใจเป็นธรรม ตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทยและตามความเหมาะสมของท้องถิ่น ตลอดจนตามความต้องการของพี่น้องประชาชนและความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ยึดหลักแนวคิดในการบริหารโครงการ กิจกรรมตามนโยบายที่สร้างความสามัคคีและการอยู่ดีมีสุขของพี่น้องประชาชน โดยได้กำหนดนโยบายเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเทศบาลไว้ ๖ ด้านดังนี้
๑. นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบริการสาธารณะ
๑.๑ จัดระบบผังเมืองให้สอดคล้องและรองรับการขยายตัวเมืองอย่างเหมาะสมแบ่งประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นสัดส่วนเพื่อให้มีการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสมกับการพัฒนาในอนาคตและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด
๑.๒ พัฒนาเส้นทางคมนาคมถนนสายหลัก สายรองให้มีสภาพดี มีมาตรฐาน มีความปลอดภัยแก่ประชาชน และครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่
๑.๓ พัฒนาระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพในการรับและระบายน้ำ และเพื่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในชุมชน
๑.๔ พัฒนาการให้บริการด้านแสงสว่าง ไฟฟ้าสาธารณะอย่างทั่วถึง
๑.๕ สร้างและบำรุงแหล่งกักเก็บน้ำ ขุดลอกทางน้ำ และระบบการส่งน้ำ เข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตรเพื่อเอื้อประโยชน์ในการประกอบอาชีพของประชาชน
๑.๖ สนับสนุนการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคให้มีอย่างเพียงพอ ปรับปรุงท่อเมนประปาให้ได้มาตรฐาน และสามารถให้บริการน้ำประปาเพื่อการอุปโภคและบริโภค ได้ตามความต้องการของประชาชน
๑.๗ ปรับปรุงแนวคันคลองภูมีให้มีความมั่นคงแข็งแรง และให้ได้มาตรฐานเพื่อแก้ปัญหาน้ำคลองล้นตลิ่งเข้าท่วมขังในเขตพื้นที่เทศบาล ตลอดจนเพิ่มมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมชุมชน สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการประสานงานและบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานองค์กรภาครัฐอื่น ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
๒. นโยบายด้านเศรษฐกิจ และการส่งเสริมอาชีพ
๒.๑ ปรับปรุงและพัฒนาตลาดสดเทศบาล สู่ “ตลาดสดน่าซื้อ” ที่มีโครงสร้างมั่นคง แข็งแรง สะอาด ถูกสุขลักษณะ มีการพัฒนายกระดับจนผ่านเกณฑ์ 3 ด้าน คือ ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัยอาหาร และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
๒.๒ พัฒนาศูนย์อาหารของเทศบาล โดยจัดระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ประชาชนผู้เช่าร้านค้าและแผงค้าสามารถร่วมกันกำหนดทิศทางธุรกิจได้ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและเพิ่มส่วนลดเพื่อเป็นการตอบแทนลูกค้า พัฒนาศูนย์อาหารให้ผ่านเกณฑ์ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัยอาหาร และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
๒.๓ จัดระเบียบการจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะในเขตเทศบาล ให้มีการดูแลเรื่องความสะอาดของพื้นที่ อาหารปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภค
๒.๔ พัฒนาจุดจำหน่ายอาหารและผลิตผลทางการเกษตรที่ศาลาหน้าวัดเขาตกน้ำให้เป็น“ตลาดชุมชน ลานวัด ลานวัฒนธรรม” ที่เป็นศูนย์รวมของอาหารท้องถิ่นพื้นบ้าน และ จุดจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร ส่งเสริมการมีรายได้ให้กับประชาชน
๒.๕ พัฒนาคุณภาพเกษตรกร เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงภาคการเกษตร ทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้ จัดกิจกรรมส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร โดยการบูรณาการกับหน่วยงานหรือองค์กรภายนอก เช่น สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด สำนักงานเกษตรอำเภอรัตภูมิ การยางแห่งประเทศไทย สาขารัตภูมิ และศูนย์สาธิตฝึกอาชีพเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
๒.๖ พัฒนาและส่งเสริมการให้ความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์แก่ประชาชน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพและกระจายรายได้อย่าทั่วถึง
๒.๗ สนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติริมคลองภูมี
๓. นโยบายด้านสังคมสงเคราะห์ สวัสดิการชุมชน และคุณภาพชีวิต
๓.๑ ส่งเสริม สนับสนุนการจัดกิจกรรมและให้การสงเคราะห์แก่ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเชื้อโรคเอดส์ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และสามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมอย่างเหมาะสม
๓.๒ พัฒนา ส่งเสริม สร้างประกันชีวิตขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมจัดสวัสดิการให้กับประชาชนตั้งแต่แรกเกิดจนตาย ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
๓.๓ ส่งเสริมให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ได้ประกอบอาชีพตามความถนัดอย่างเต็มศักยภาพของตน โดยจัดให้มีการฝึกอบรมอาชีพให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง
๓.๔ สนับสนุนการจัดทำโครงการเชิงรุกด้านสังคมสงเคราะห์ การดูแลและส่งเสริมสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจให้แก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ตั้งแต่แรกเกิดและทุกกลุ่มทุกวัย
๓.๕ เสริมสร้างมาตรการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสพภัยพิบัติต่าง ๆ
๓.๖ ส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในชุมชน สนับสนุนการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในรูปของสายตรวจอาสา อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.) และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
๓.๗ ติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV เพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่จุดเสี่ยงในเขตเทศบาล เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
๔. นโยบายด้านการศึกษา นันทนาการ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และศาสนา
๔.๑ ส่งเสริมการจัดการศึกษาทุกรูปแบบ และทุกระดับชั้น เพิ่มโอกาสทางการศึกษา ให้มีศักยภาพและมีคุณภาพ เสริมสร้างแหล่งเรียนรู้ให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างบูรณาการ โดยการจัดให้มี “WIFI ชุมชน” เพื่อการเรียนรู้และสืบค้นข้อมูลทางการศึกษา
๔.๒ พัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้ได้มาตรฐานการประกันคุณภาพทางการศึกษา ทั้งการประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอกโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาศูนย์เด็กเล็ก สู่ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ”
๔.๓ ส่งเสริม พัฒนาคุณภาพชีวิตและการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ โดยการจัดให้มี “โรงเรียนผู้สูงอายุ” เพื่อส่งเสริมผู้สูงอายุให้ได้พัฒนาตนเอง ได้รับการดูแล คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ เสริมสร้างสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจให้กับผู้สูงอายุ เสริมสร้างศักยภาพ คุณค่า ภูมิปัญญาผู้สูงอายุให้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับ และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม
๔.๔ ส่งเสริม สนับสนุนและฟื้นฟูสภาเด็กและเยาวชนในเทศบาล เพื่อให้เยาวชนได้ร่วมคิด ร่วมทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จัดพื้นที่หรือเวทีการแสดงความสามารถ ด้านกีฬา ด้านดนตรี ด้านศิลปะ และการแสดง ตามความต้องการของเด็กและเยาวชน
๔.๕ ส่งเสริมการออกกำลังกายของประชาชนทุกช่วงวัย โดยการจัดให้มีและปรับปรุงสถานที่ออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพิ่มขึ้น เช่น สนามวอลเลย์บอล สระว่ายน้ำ เป็นต้น จัดให้มี “เครื่องออกกำลังประจำชุมชน” เพื่อการกระจายโอกาสและกระตุ้นให้ประชาชนได้ออกกำลังกายกันอย่างทั่วถึงและสนับสนุนการแข่งขันกีฬาทุกระดับ
๔.๖ ส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแพร่ศาสนา การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ยั่งยืน
๕. นโยบายด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
๕.๑ ส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล ผ่านศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล ที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง
๕.๒ ส่งเสริม สนับสนุนให้มีระบบป้องกันและระงับโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่เทศบาลได้อย่างทันท่วงที และให้มีประสิทธิภาพ
๕.๓ ส่งเสริม สนับสนุนให้ความรู้ด้านสาธารณสุขมูลฐานและการป้องกันโรคแก่ประชาชน เพื่อสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง
๕.๔ ส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ในด้านการเสริมสร้างระบบสุขภาพ ตั้งแต่การส่งเสริม การป้องกัน และการรักษาที่สามารถลดการเจ็บป่วยและลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
๕.๕ เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการบริหารจัดขยะมูลฝอยจากครัวเรือนให้สามารถจัดเก็บได้อย่างรวดเร็ว ส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนมีการคัดแยกขยะในครัวเรือน และฟื้นฟูโครงการธนาคารขยะ เพื่อลดปริมาณขยะในชุมชน
๕.๖ จัดระบบควบคุมและลดปริมาณของเสียที่กลายเป็นมลพิษ ทั้งในรูปของขยะอันตราย มลพิษทางอากาศ กลิ่น น้ำเสียและสิ่งปฏิกูล
๕.๗ จัดทำโครงการรอบบ้านมอง ชุมชนน่าอยู่ เพื่อให้ชุมชนในเขตเทศบาลเป็นเมืองน่าอยู่
๕.๘ ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณแหล่งชุมชน เช่น สำนักงานเทศบาล สนามกีฬากลาง ฝายเก็บน้ำบ้านโคกท่อม ที่ทำการชุมชน หน้าวัด หน้าโรงเรียน ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นปอดฟอกอากาศ และเป็นสถานที่ออกกำลังกาย
๕.๙ ส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุ้มครองดูแลรักษาความสะอาดและคุณภาพของน้ำในลำคลองภูมี รณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกในอนุรักษ์ป่าไม้ เพื่อเพิ่มความสมดุลทางธรรมชาติและระบบนิเวศวิทยา
๕.๑๐ สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการประสานงาน และดำเนินงานระหว่างองค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม
๖. นโยบายด้านการบริหารจัดการที่ดี
๖.๑ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการบริหารเทศบาล เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องทุกขั้นตอน
๖.๒ ปรับปรุงพัฒนา และจัดให้มีเครื่องมือ เครื่องใช้ และสถานที่ปฏิบัติงานให้เพียงพอและทันสมัย เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และเอื้อต่อการให้บริการแก่ประชาชน
๖.๓ บริหารจัดการและพัฒนาขีดความสามารถเพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากร สร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน จัดให้มีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของบุคลากรอย่างทั่วถึง เพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรของเทศบาล
๖.๔ ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมในองค์กร ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนและบุคลากรของเทศบาลมีส่วนร่วม โดยสุจริต โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
๖.๕ บริหารงานด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส จริงใจ สามารถตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนในท้องถิ่น ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยยึดหลักธรรมาภิบาล
ท่านประธานสภาเทศบาลตำบลกำแพงเพชรที่เคารพ
กระผมจะดำเนินนโยบายตามกรอบของกฎหมายและอำนาจหน้าที่ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายข้าราชการประจำ ฝ่ายการเมือง สมาชิกสภาเทศบาล ประชาชน ภาคเอกชนและองค์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกเขตเทศบาล เพื่อประโยชน์ในการดำเนินนโยบายต่อไป
กระผมขอให้ความเชื่อมั่นแก่สภาเทศบาลตำบลกำแพงเพชร อันเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการเทศบาล ว่าจะบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยึดประโยชน์สุข ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง ขอขอบคุณครับ
อนุวัช แก้วสว่าง
(นายอนุวัช แก้วสว่าง)
นายกเทศมนตรีตำบลกำแพงเพชร